ความหมายของจุลสารและกฤตภาค
จุลสาร (Pamphlet) หมายถึง สิ่งพิมพ์ขนาดเล็กที่มีเนื้อหากล่าวถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงเรื่องเดียว และจบบริบูรณ์ภายในเล่ม ความยาวไม่มากนัก เขียนอย่างง่ายๆส่วนมากแล้วเนื้อหาจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจในช่วงระยะเวลา หนึ่ง โดยจะให้ข้อมูลที่ทันสมัยรูปแบบ ลักษณะของจุลสารคือ มีความหนาอย่างน้อย 5 หน้า แต่ไม่เกิน 48 หน้า รูปเล่มไม่แข็งแรง อาจเป็นแผ่นกระดาษพับไปมา เพื่อสะดวกในการถือ หรืออาจเป็นสิ่งพิมพ์ที่เย็บเล่มแต่ใช้ปกอ่อน เป็นเล่มบางๆ จุลสารและอนุสาร มักเป็นการจัดทำโดยหน่วยงานราชการ องค์การ สถาบันต่างๆเพื่อเผยแพร่เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการ ดำเนินงานของหน่วยงานนั้นๆพิมพ์แจกแก่บุคคลที่สนใจ สิ่งพิมพ์ลักษณะนออกมาเป็นคราวๆ ไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอน
กฤตภาค (Clipping) คือ ข้อความต่างๆ ที่ตัดจากหนังสือพิมพ์ วารสาร และสิ่งตีพิมพ์ อื่นๆ แล้วนำมาผนึกบนกระดาษ และให้หัวเรื่อง รวมจัดเข้าแฟ้ม โดยจัดเรียงไว้ในแฟ้มกฤตภาคในตู้กฤตภาคตามลำดับตัวอักษรของหัวเรื่อง เรื่องที่นำมาทำกฤตภาคคือ เรื่องราวทุกสาขาวิชาที่น่าสนใจศึกษาค้นคว้า เช่น เรื่องราวเกี่ยวกับประเทศหรือสถานที่สำคัญต่างๆ ชีวประวัติบุคคล การเมืองและการปกครอง สุขภาพอนามัย เรื่องราวและภาพประกอบต่างๆ ที่ค้นหาได้ยากจากหนังสือ ภาพและเรื่องราวเกี่ยวกับท้องถิ่นหรือสถาบันที่ห้องสมุดนั้นสังกัดอยู่ เป็นต้น
